วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2552

รายงานโครงการ

โครงการกระทิงน้อยนักอนุรักษ์

เรียนท่านหัวหน้ากลุ่มงานสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบุรี คุณนิพล ไชยสาลี กระผมนายนิวัฒน์ มั่นหมาย ประธานคณะกรรมการเครือข่าย ทสม. จังหวัดเพชรบุรี ในนามของหัวหน้าคณะทำงานโครงการกระทิงน้อยนักอนุรักษ์

ปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาด้านการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงขึ้นทุก ๆ วัน ในขณะที่คนส่วนใหญ่ยังขาดความสนใจที่จะดูแล แก้ไข เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของเวลาและการขาดองค์ความรู้ที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหา ตลอดจนไม่ค่อยจะมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ดูแล ดังนั้นการส่งเสริมให้เยาวชนได้รับองค์ความรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนรู้จักอนุรักษ์ หวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นความจำเป็นที่ต้องเริ่มปลูกฝังให้เยาวชนได้รับรู้ มีจิตสำนึกอย่างจริงจัง และพร้อมที่จะช่วยกันอนุรักษ์ ดูแล ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้มีการจัดทำโครงการกระทิงน้อยนักอนุรักษ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมองค์ความรู้และปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

1. เพื่อให้เยาวชนสามารถสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่

2. เพื่อให้เยาวชนสามารถรู้จักต้นไม้และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทั้งคุณประโยชน์และโทษภัย

3. เพื่อให้เยาวชนมีทักษะและรู้จักการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน

4. เพื่อปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนรักและหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โดยมีเป้าหมายเป็นเยาวชนอายุระหว่าง 10-12 ปี ในพื้นที่อำเภอหนองหญ้าปล้องจำนวน 100 คน ซึ่งงบประมาณในการจัดโครงการนี้มาจากงบประมาณ ทสม. จังหวัดเพชรบุรี ปีงบประมาณ 2552 และกองทุนเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบุรี รวมจำนวน 30,000 บาท

บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้ว ข้าพเจ้าใคร่ขอเรียนเชิญท่านประธานกล่าวให้โอวาท และกระทำพิธีเปิดงาน การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการกระทิงน้อยนักอนุรักษ์ต่อไป คำกล่าวรายงานของนายนิวัฒน์ มั่นหมาย เสมือนเป็นสัญญาณว่าโครงการฯ จะได้เวลาเริ่มต้นแล้ว น้อง ๆ นักเรียนจาก 3 โรงเรียนในอำเภอหนองหญ้าปล้อง (โรงเรียนบ้านพุพลู โรงเรียนบ้านหนองหญ้าปล้อง (อุดมวนา) และโรงเรียนบ้านจะโปรง ) ที่เดินทางมากันตั้งแต่เวลา 9.00 น. มาลงทะเบียนและถูกพี่เลี้ยงคือปู่หนุ่ย ( จ.ส.ต. ธนวิน ปิ่นหิรัญ) และพี่ ๆ จากโรงเรียนแก่งกระจานวิทยา นำไปละลายพฤติกรรมและแบ่งกลุ่มเป็น 5 กลุ่มคือ กลุ่มสีฟ้า กลุ่มสีส้ม กลุ่มสีเหลือง กลุ่มสีชมพู และกลุ่มสีเขียว ได้เข้ามาร่วมในหอประชุมโรงเรียนบ้านพุพลู รับฟังโอวาทของนายนิพล ไชยสาลี ประธานในพิธีเปิด กระผมต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดโครงการในครั้งนี้ โครงการกระทิงน้อยนักอนุรักษ์ นับว่าเป็นโครงการที่สำคัญในการที่จะปลูกจิตสำนึกให้กับเยาวชนในท้องถิ่น ตามที่ท่านประธาน ทสม. จังหวัดเพชรบุรีได้กล่าวรายงาน กระผมในฐานะของเจ้าหน้าที่รัฐก็จะได้ร่วมมือกับทุกท่าน และสนับสนุนให้โครงการดำเนินการไปอย่างมีปะสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมให้เกิดกระบวนการจิตอาสาด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม อันจะนำมาซึ่งการดูแล อนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเองอย่างกว้างขวางและเข้าใจ กระผมขออำนาจคุณพระศรีรัตนไตรและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกท่านเคารพนับถือ จงดลบันดาลให้ทุกท่าน โดยเฉพาะน้อง ๆ นักเรียนที่น่ารักทุกคน จงประสบความสุข ความเจริญ ต่อไป บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้วกระผมขอเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ โครงการกระทิงน้อยนักอนุรักษ์ ณ บัดนี้

จากนั้นนายนิวัฒน์ ได้เรียนเชิญท่านวิทยากรและแขกผู้มีเกียรติได้แนะนำตัวและกล่าวโอวาทกับเด็ก ๆ ดังนี้

1. นายวีระศักดิ์ พงษ์สุภา ปลัด อบต. รักษาการนายก อบต. ยางน้ำกลัดใต้

2. นายสงคราม เสนะโลหิต ปราชญ์ชาวบ้านและวิทยากร

3. นายเจน ป้อมสิงห์ วิทยากร

4. จ.ส.ต. ธนวิน ปิ่นหิรัญ วิทยากร

5. อ. กชพรรณ ลาพิมพ์ วิทยากร

6. อ. สุริยา ปิ่นหิรัญ วิทยากร

7. อ. ปรีชา บรรดาศักดิ์ อาจารย์โรงเรียนบ้านพุพลูและผู้อำนวยการค่าย

8. น.ส. ขวัญเนตร สบายใจ เจ้าหน้าที่ ทสจ. และรองผู้อำนวยการค่าย

9. นายปลิว มะลิวัลย์ ผู้ใหญ่บ้านพุพลู

เมื่อทุกท่านกล่าวแล้วทีมพี่เลี้ยงก็ได้เข้ามาร่วมจัดสันทนาการให้เด็ก ๆ จนเวลา 12.00 น. จึงได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน โดยทางปู่หนุ่ยขู่เด็ก ๆ ว่า กลางวันให้ทุกคนกินให้มาก ๆ มื้อเย็นทุกคนต้องหุงข้าวกินกันเองด้วยเตาฟืน จะดิบ จะไหม้ หรือเปียก คงจะได้รู้กัน

บ่ายโมงตรง เด็ก ๆ ทุกคนมาพร้อมกันที่หอประชุม โดยมีพี่เลี้ยงคอยจัดการและทำโทษคนที่มาช้าต้องให้เพื่อน ๆ คอย พี่เลี้ยงลงโทษน้อง ๆ เป็นที่สนุกสนานมากกว่าจะเอาจริงเอายัง

เมื่อเด็ก ๆ พร้อม พี่นิวัฒน์ก็ได้กล่าวให้เด็ก ๆ รู้ว่าทำไมเราต้องมาร่วมกันเข้าค่ายอบรม กระทิงน้อยนักอนุรักษ์ในวันนี้ เด็ก ๆ ทุกคนตั้งใจฟังอย่างมาก พี่นิวัฒน์ได้บอกถึงความต้องการ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายของโครงการ และชี้แจงกำหนดการต่าง ๆ ให้เด็กได้รับรู้

13.30 น. พี่นิวัฒน์ได้ส่งมอบเด็ก ๆ ให้กับวิทยากรและพี่เลี้ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยวิทยากรได้แบ่งเด็ก ๆ ออกเป็น 5 ฐานการเรียนรู้ ตามหมู่สี ให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้ฐานละ 20 นาที ดังนี้

ฐานที่ 1 ต้นไม้เพื่อนรัก + สำรวจพืช โดยให้เด็ก ๆ ใช้ประสาทสัมผัสเรียนรู้เรื่องต้นไม้

ฐานที่ 2 ทิศทางของเสียง.....สำรวจชนิดสัตว์ เด็ก ๆ แอบฟังเสียงสัตว์ร้องในป่าแล้วมาทายกันว่าเป็นสัตว์อะไรบ้าง เช่นเสียงแมลง เสียงนก เป็นต้น

ฐานที่ 3 ใบไม้มหัศจรรย์ เด็ก ๆ เก็บใบไม้รูปร่างต่าง ๆ มาทาสีแล้วกดทับบนกระดาษให้เป็นรูปภาพตามจิตนาการ มองให้เห็นคุณประโยชน์ของต้นไม้ ใบไม้ ในการทำงานศิลปะ

ฐานที่ 4 สิ่งแปลกปลอมในธรรมชาติ เป็นการสำรวจพืชพรรณ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ที่อยู่ร่วมกันในพื้นที่ขณะนั้น โดยตีแปลงขนาด 20 ตรม. เพื่อให้เด็ก ๆ สำรวจว่าในแปลงมีอะไรอยู่ร่วมกันบ้าง

ฐานที่ 5 เปลี่ยนไป.....ให้มีค่า ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้การนำวัสดุ สิ่งของที่ไม่ใช้แล้ว หรือขยะที่ทิ้งไว้ เช่นกล่องนม ที่ดื่มหมดแล้ว เป็นต้น นำมาดัดแปลงสานเป็นของใช้ ของเล่น เช่นสานกระเป๋า กล่องใส่ดินสอ กล่องใส่ของ ตลอดจนสานตะกร้อ สานเป็นรูปต่าง ๆ ที่สวยงาม ไว้ประดับตกแต่งห้อง เป็นต้น

เมื่อเด็ก ๆ เรียนรู้ทั้ง 5 ฐานแล้วก็นำมาสรุปร่วมกันเป็นองค์ความรู้ที่ได้ โดยทำเป็นกลุ่มลงแผ่นงาน ลงรูปลงสีจนสวยงามแล้วส่งงานให้กลุ่มพี่เลี้ยง เด็ก ๆ มีเวลาทำงานกันประมาณ 1 ชั่วโมง สรุปว่ายังไม่มีกลุ่มใดสำเร็จต้องเปิดโอที ภาคกลางคืนต่อ

17.00 น. เด็ก ๆ ออกจากหอประชุมไปหาหนทางหุงข้าวกินกัน หุงกันเป็นที่สนุกสนาน 6 โมงเย็นบางกลุ่มยังก่อไฟไม่ติด ได้ข้าวกินกันเกือบ 1 ทุ่มตรง หลวงพี่สุวัจน์ มารอเด็ก ๆ ตั้งแต่ 17.30 น. โดยไม่มีบ่นสักคำ

19.30 น. ปู่หนุ่ยรวมเด็กพร้อมที่หอประชุม พระอาจารย์สุวัจน์ ชยกาโร เริ่มพิธีกรรมทางศาสนา และอบรมธรรมะสอนใจให้เด็ก ๆ รู้จักรัก รู้จักดูแล สิ่งแวดล้อมใกล้ ๆ ตัว ทั้งสิ่งมีชีวิต สิ่งไม่มีชีวิต ตลอดจนเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และนำเด็ก ๆ เข้าสู่การร่วมใจกัน การประกอบพิธีเทียนให้เด็ก ๆ ได้รับรู้ถึงการร่วมกาย รวมใจ เพื่อกระทำสิ่งที่ดี สิ่งที่งาม เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อชุมชน และต่อประเทศชาติต่อไป

หลังพิธีเทียนจบ กลุ่มพี่เลี้ยงต้องเปิดสอนซ่อมให้เด็ก ๆ ได้ทำแผ่นงานกันต่อ จนเกือบ 5 ทุ่มเด็ก ๆ จึงได้ไปพักผ่อนกัน โดยมีนัดหมายตื่นนอนเวลา ตี 5 ของพรุ่งนี้

วันรุ่งขึ้นพี่เลี้ยงปลุกเด็ก ๆ ในเวลา ตี 5 ตรง นำเด็ก ๆ มาออกกำลังกายที่สนามหน้าเสาธงของโรงเรียนบ้านพุพลู ประมาณ ครึ่งชั่วโมง จึงปล่อยให้เด็ก ๆ กลับไปทำธุระส่วนตัว และหุงข้าวนำมาตักบาตรพระปละกินกันในมื้อเช้า 7.00 น. เด็ก ๆ พี่เลี้ยง วิทยากร และแขกผู้มีเกียรติร่วมกันถวายภัตราหารเช้าแก่พระสงฆ์ ที่หอประชุม

8.30 น. ปู่หนุ่ยนำกลุ่มเด็ก ๆ มาพร้อมกันที่หอประชุมพร้อมเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ พี่นิวัฒน์พูดคุยกับเด็ก ๆ ถึงสิ่งที่พวกเขาได้รับไปเมื่อวานนี้ และแนะนำให้เด็ก ๆ ได้รู้จักกับหน่วยงานและองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม คือ ทสม. ว่าคืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร และทำงานกันอย่างไร สุดท้ายได้ฝากความหวังในการทำงาน ทาม. ไว้กับเด็ก ๆ ในอนาคตต่อไป จากนั้นจึงส่งมอบเด็ก ๆ ให้ไปเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับคุณประโยชน์และโทษภัยของต้นไม้และสัตว์ต่าง ๆ ในบริเวณป่า กับลุงสงคราม เสนะโลหิต ปราชญ์ชาวบ้านที่รู้จักต้นไม้และสัตว์ป่าเป็นอย่างดี ลุงสงครามพาเด็ก ๆ ออกไปสำรวจป่าบริเวณหลังโรงเรียนบ้านพุพลู ได้แนะนำต้นไม้และประโยชน์ตลอดจนโทษของมัน หลาย ๆ ต้น ที่มีอยู่ในป่าแห่งนั้น เช่น ต้นกระพี้เขาควาย ซึ่งเป็นต้นไม้เนื้อแข็ง เนื้อไม้มีความสวยงาม สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการทำบ้านเรือน และเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ ได้ดี และยอดอ่อนยังนำมาเป็นผักแกงส้มได้อย่างอร่อยมาก ต้นเป้าน้อย ที่นำยางของมันมาเป็นยาสมานแผล ต้นขัดมอญ ที่นำมามัดรวมกันทำไม้กวาด ต้นเล็บเหยี่ยว ที่ลูกของมันกินได้ มีวิตามินซีสูง เป็นต้น

10.15 น. หลังจากเด็ก ๆ พักรับทานขนมและน้ำส้มแล้ว พี่เลี้ยงก็ส่งมอบเด็ก ๆ ให้กับครูบุญรอด เขียวอยู่ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เทคนิคการวาดรูป และการสร้างองค์ประกอบของการวาดรูป เด็ก ๆ เรียนรู้กันอย่างสนุกสนาน หลังจากเด็ก ๆ พอเข้าใจ ครูบุญรอดก็ให้เด็ก ๆ ทุกคนแข่งขันกันวาดรูปตามจินตนาการของตนเอง จากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เด็ก ๆ มองเห็น จนเวลาเที่ยงจึงพักกินเข้ากัน และกลับมาวาดรูปต่อจนเสร็จ

13.30 น. พี่นิวัฒน์และ อ. สุริยา จึงเข้ามาสรุปองค์ความรู้และบทเรียนที่เด็ก ๆ ได้รับ และให้เด็ก ๆ เขียนความตั้งใจลงกระดาษนำมาติดและอ่านให้เพื่อน ๆ ฟังหน้าห้อง จากนั้นก็มีการประกาศผลและให้รางวัลคนที่ชนะการวาดภาพ กลุ่มที่ชนะการทำแผนงาน และมอบสาระองค์ความรู้เหล่านี้ฝากเด็ก ๆ กลับไปโรงเรียนของตน จากนั้นจีงมอบใบประกาศนียบัตรให้เด็ก ๆ ที่ผ่านการอบรมโครงการกระทิงน้อยนักอนุรักษ์ในครั้งนี้ พี่นิวัฒน์กล่าวฝากให้เด็ก ๆ ทุกคนกลับบ้านแล้วไปช่วยดูแลทำความสะอาดรอบ ๆ บ้านของตนเอง ดูแลสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ บ้านไม่ให้ก่อมลพิษ และช่วยกันปลูกต้นไม้ให้มาก ๆ เพื่อให้โลกเราร่มเย็นขึ้น และกล่าวปิดการอบรมในครั้งนี้ในที่สุด