วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2552

รายงานโครงการ

โครงการกระทิงน้อยนักอนุรักษ์

เรียนท่านหัวหน้ากลุ่มงานสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบุรี คุณนิพล ไชยสาลี กระผมนายนิวัฒน์ มั่นหมาย ประธานคณะกรรมการเครือข่าย ทสม. จังหวัดเพชรบุรี ในนามของหัวหน้าคณะทำงานโครงการกระทิงน้อยนักอนุรักษ์

ปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาด้านการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงขึ้นทุก ๆ วัน ในขณะที่คนส่วนใหญ่ยังขาดความสนใจที่จะดูแล แก้ไข เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของเวลาและการขาดองค์ความรู้ที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหา ตลอดจนไม่ค่อยจะมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ดูแล ดังนั้นการส่งเสริมให้เยาวชนได้รับองค์ความรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนรู้จักอนุรักษ์ หวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นความจำเป็นที่ต้องเริ่มปลูกฝังให้เยาวชนได้รับรู้ มีจิตสำนึกอย่างจริงจัง และพร้อมที่จะช่วยกันอนุรักษ์ ดูแล ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้มีการจัดทำโครงการกระทิงน้อยนักอนุรักษ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมองค์ความรู้และปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

1. เพื่อให้เยาวชนสามารถสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่

2. เพื่อให้เยาวชนสามารถรู้จักต้นไม้และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทั้งคุณประโยชน์และโทษภัย

3. เพื่อให้เยาวชนมีทักษะและรู้จักการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน

4. เพื่อปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนรักและหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โดยมีเป้าหมายเป็นเยาวชนอายุระหว่าง 10-12 ปี ในพื้นที่อำเภอหนองหญ้าปล้องจำนวน 100 คน ซึ่งงบประมาณในการจัดโครงการนี้มาจากงบประมาณ ทสม. จังหวัดเพชรบุรี ปีงบประมาณ 2552 และกองทุนเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบุรี รวมจำนวน 30,000 บาท

บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้ว ข้าพเจ้าใคร่ขอเรียนเชิญท่านประธานกล่าวให้โอวาท และกระทำพิธีเปิดงาน การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการกระทิงน้อยนักอนุรักษ์ต่อไป คำกล่าวรายงานของนายนิวัฒน์ มั่นหมาย เสมือนเป็นสัญญาณว่าโครงการฯ จะได้เวลาเริ่มต้นแล้ว น้อง ๆ นักเรียนจาก 3 โรงเรียนในอำเภอหนองหญ้าปล้อง (โรงเรียนบ้านพุพลู โรงเรียนบ้านหนองหญ้าปล้อง (อุดมวนา) และโรงเรียนบ้านจะโปรง ) ที่เดินทางมากันตั้งแต่เวลา 9.00 น. มาลงทะเบียนและถูกพี่เลี้ยงคือปู่หนุ่ย ( จ.ส.ต. ธนวิน ปิ่นหิรัญ) และพี่ ๆ จากโรงเรียนแก่งกระจานวิทยา นำไปละลายพฤติกรรมและแบ่งกลุ่มเป็น 5 กลุ่มคือ กลุ่มสีฟ้า กลุ่มสีส้ม กลุ่มสีเหลือง กลุ่มสีชมพู และกลุ่มสีเขียว ได้เข้ามาร่วมในหอประชุมโรงเรียนบ้านพุพลู รับฟังโอวาทของนายนิพล ไชยสาลี ประธานในพิธีเปิด กระผมต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดโครงการในครั้งนี้ โครงการกระทิงน้อยนักอนุรักษ์ นับว่าเป็นโครงการที่สำคัญในการที่จะปลูกจิตสำนึกให้กับเยาวชนในท้องถิ่น ตามที่ท่านประธาน ทสม. จังหวัดเพชรบุรีได้กล่าวรายงาน กระผมในฐานะของเจ้าหน้าที่รัฐก็จะได้ร่วมมือกับทุกท่าน และสนับสนุนให้โครงการดำเนินการไปอย่างมีปะสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมให้เกิดกระบวนการจิตอาสาด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม อันจะนำมาซึ่งการดูแล อนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเองอย่างกว้างขวางและเข้าใจ กระผมขออำนาจคุณพระศรีรัตนไตรและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกท่านเคารพนับถือ จงดลบันดาลให้ทุกท่าน โดยเฉพาะน้อง ๆ นักเรียนที่น่ารักทุกคน จงประสบความสุข ความเจริญ ต่อไป บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้วกระผมขอเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ โครงการกระทิงน้อยนักอนุรักษ์ ณ บัดนี้

จากนั้นนายนิวัฒน์ ได้เรียนเชิญท่านวิทยากรและแขกผู้มีเกียรติได้แนะนำตัวและกล่าวโอวาทกับเด็ก ๆ ดังนี้

1. นายวีระศักดิ์ พงษ์สุภา ปลัด อบต. รักษาการนายก อบต. ยางน้ำกลัดใต้

2. นายสงคราม เสนะโลหิต ปราชญ์ชาวบ้านและวิทยากร

3. นายเจน ป้อมสิงห์ วิทยากร

4. จ.ส.ต. ธนวิน ปิ่นหิรัญ วิทยากร

5. อ. กชพรรณ ลาพิมพ์ วิทยากร

6. อ. สุริยา ปิ่นหิรัญ วิทยากร

7. อ. ปรีชา บรรดาศักดิ์ อาจารย์โรงเรียนบ้านพุพลูและผู้อำนวยการค่าย

8. น.ส. ขวัญเนตร สบายใจ เจ้าหน้าที่ ทสจ. และรองผู้อำนวยการค่าย

9. นายปลิว มะลิวัลย์ ผู้ใหญ่บ้านพุพลู

เมื่อทุกท่านกล่าวแล้วทีมพี่เลี้ยงก็ได้เข้ามาร่วมจัดสันทนาการให้เด็ก ๆ จนเวลา 12.00 น. จึงได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน โดยทางปู่หนุ่ยขู่เด็ก ๆ ว่า กลางวันให้ทุกคนกินให้มาก ๆ มื้อเย็นทุกคนต้องหุงข้าวกินกันเองด้วยเตาฟืน จะดิบ จะไหม้ หรือเปียก คงจะได้รู้กัน

บ่ายโมงตรง เด็ก ๆ ทุกคนมาพร้อมกันที่หอประชุม โดยมีพี่เลี้ยงคอยจัดการและทำโทษคนที่มาช้าต้องให้เพื่อน ๆ คอย พี่เลี้ยงลงโทษน้อง ๆ เป็นที่สนุกสนานมากกว่าจะเอาจริงเอายัง

เมื่อเด็ก ๆ พร้อม พี่นิวัฒน์ก็ได้กล่าวให้เด็ก ๆ รู้ว่าทำไมเราต้องมาร่วมกันเข้าค่ายอบรม กระทิงน้อยนักอนุรักษ์ในวันนี้ เด็ก ๆ ทุกคนตั้งใจฟังอย่างมาก พี่นิวัฒน์ได้บอกถึงความต้องการ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายของโครงการ และชี้แจงกำหนดการต่าง ๆ ให้เด็กได้รับรู้

13.30 น. พี่นิวัฒน์ได้ส่งมอบเด็ก ๆ ให้กับวิทยากรและพี่เลี้ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยวิทยากรได้แบ่งเด็ก ๆ ออกเป็น 5 ฐานการเรียนรู้ ตามหมู่สี ให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้ฐานละ 20 นาที ดังนี้

ฐานที่ 1 ต้นไม้เพื่อนรัก + สำรวจพืช โดยให้เด็ก ๆ ใช้ประสาทสัมผัสเรียนรู้เรื่องต้นไม้

ฐานที่ 2 ทิศทางของเสียง.....สำรวจชนิดสัตว์ เด็ก ๆ แอบฟังเสียงสัตว์ร้องในป่าแล้วมาทายกันว่าเป็นสัตว์อะไรบ้าง เช่นเสียงแมลง เสียงนก เป็นต้น

ฐานที่ 3 ใบไม้มหัศจรรย์ เด็ก ๆ เก็บใบไม้รูปร่างต่าง ๆ มาทาสีแล้วกดทับบนกระดาษให้เป็นรูปภาพตามจิตนาการ มองให้เห็นคุณประโยชน์ของต้นไม้ ใบไม้ ในการทำงานศิลปะ

ฐานที่ 4 สิ่งแปลกปลอมในธรรมชาติ เป็นการสำรวจพืชพรรณ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ที่อยู่ร่วมกันในพื้นที่ขณะนั้น โดยตีแปลงขนาด 20 ตรม. เพื่อให้เด็ก ๆ สำรวจว่าในแปลงมีอะไรอยู่ร่วมกันบ้าง

ฐานที่ 5 เปลี่ยนไป.....ให้มีค่า ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้การนำวัสดุ สิ่งของที่ไม่ใช้แล้ว หรือขยะที่ทิ้งไว้ เช่นกล่องนม ที่ดื่มหมดแล้ว เป็นต้น นำมาดัดแปลงสานเป็นของใช้ ของเล่น เช่นสานกระเป๋า กล่องใส่ดินสอ กล่องใส่ของ ตลอดจนสานตะกร้อ สานเป็นรูปต่าง ๆ ที่สวยงาม ไว้ประดับตกแต่งห้อง เป็นต้น

เมื่อเด็ก ๆ เรียนรู้ทั้ง 5 ฐานแล้วก็นำมาสรุปร่วมกันเป็นองค์ความรู้ที่ได้ โดยทำเป็นกลุ่มลงแผ่นงาน ลงรูปลงสีจนสวยงามแล้วส่งงานให้กลุ่มพี่เลี้ยง เด็ก ๆ มีเวลาทำงานกันประมาณ 1 ชั่วโมง สรุปว่ายังไม่มีกลุ่มใดสำเร็จต้องเปิดโอที ภาคกลางคืนต่อ

17.00 น. เด็ก ๆ ออกจากหอประชุมไปหาหนทางหุงข้าวกินกัน หุงกันเป็นที่สนุกสนาน 6 โมงเย็นบางกลุ่มยังก่อไฟไม่ติด ได้ข้าวกินกันเกือบ 1 ทุ่มตรง หลวงพี่สุวัจน์ มารอเด็ก ๆ ตั้งแต่ 17.30 น. โดยไม่มีบ่นสักคำ

19.30 น. ปู่หนุ่ยรวมเด็กพร้อมที่หอประชุม พระอาจารย์สุวัจน์ ชยกาโร เริ่มพิธีกรรมทางศาสนา และอบรมธรรมะสอนใจให้เด็ก ๆ รู้จักรัก รู้จักดูแล สิ่งแวดล้อมใกล้ ๆ ตัว ทั้งสิ่งมีชีวิต สิ่งไม่มีชีวิต ตลอดจนเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และนำเด็ก ๆ เข้าสู่การร่วมใจกัน การประกอบพิธีเทียนให้เด็ก ๆ ได้รับรู้ถึงการร่วมกาย รวมใจ เพื่อกระทำสิ่งที่ดี สิ่งที่งาม เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อชุมชน และต่อประเทศชาติต่อไป

หลังพิธีเทียนจบ กลุ่มพี่เลี้ยงต้องเปิดสอนซ่อมให้เด็ก ๆ ได้ทำแผ่นงานกันต่อ จนเกือบ 5 ทุ่มเด็ก ๆ จึงได้ไปพักผ่อนกัน โดยมีนัดหมายตื่นนอนเวลา ตี 5 ของพรุ่งนี้

วันรุ่งขึ้นพี่เลี้ยงปลุกเด็ก ๆ ในเวลา ตี 5 ตรง นำเด็ก ๆ มาออกกำลังกายที่สนามหน้าเสาธงของโรงเรียนบ้านพุพลู ประมาณ ครึ่งชั่วโมง จึงปล่อยให้เด็ก ๆ กลับไปทำธุระส่วนตัว และหุงข้าวนำมาตักบาตรพระปละกินกันในมื้อเช้า 7.00 น. เด็ก ๆ พี่เลี้ยง วิทยากร และแขกผู้มีเกียรติร่วมกันถวายภัตราหารเช้าแก่พระสงฆ์ ที่หอประชุม

8.30 น. ปู่หนุ่ยนำกลุ่มเด็ก ๆ มาพร้อมกันที่หอประชุมพร้อมเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ พี่นิวัฒน์พูดคุยกับเด็ก ๆ ถึงสิ่งที่พวกเขาได้รับไปเมื่อวานนี้ และแนะนำให้เด็ก ๆ ได้รู้จักกับหน่วยงานและองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม คือ ทสม. ว่าคืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร และทำงานกันอย่างไร สุดท้ายได้ฝากความหวังในการทำงาน ทาม. ไว้กับเด็ก ๆ ในอนาคตต่อไป จากนั้นจึงส่งมอบเด็ก ๆ ให้ไปเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับคุณประโยชน์และโทษภัยของต้นไม้และสัตว์ต่าง ๆ ในบริเวณป่า กับลุงสงคราม เสนะโลหิต ปราชญ์ชาวบ้านที่รู้จักต้นไม้และสัตว์ป่าเป็นอย่างดี ลุงสงครามพาเด็ก ๆ ออกไปสำรวจป่าบริเวณหลังโรงเรียนบ้านพุพลู ได้แนะนำต้นไม้และประโยชน์ตลอดจนโทษของมัน หลาย ๆ ต้น ที่มีอยู่ในป่าแห่งนั้น เช่น ต้นกระพี้เขาควาย ซึ่งเป็นต้นไม้เนื้อแข็ง เนื้อไม้มีความสวยงาม สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการทำบ้านเรือน และเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ ได้ดี และยอดอ่อนยังนำมาเป็นผักแกงส้มได้อย่างอร่อยมาก ต้นเป้าน้อย ที่นำยางของมันมาเป็นยาสมานแผล ต้นขัดมอญ ที่นำมามัดรวมกันทำไม้กวาด ต้นเล็บเหยี่ยว ที่ลูกของมันกินได้ มีวิตามินซีสูง เป็นต้น

10.15 น. หลังจากเด็ก ๆ พักรับทานขนมและน้ำส้มแล้ว พี่เลี้ยงก็ส่งมอบเด็ก ๆ ให้กับครูบุญรอด เขียวอยู่ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เทคนิคการวาดรูป และการสร้างองค์ประกอบของการวาดรูป เด็ก ๆ เรียนรู้กันอย่างสนุกสนาน หลังจากเด็ก ๆ พอเข้าใจ ครูบุญรอดก็ให้เด็ก ๆ ทุกคนแข่งขันกันวาดรูปตามจินตนาการของตนเอง จากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เด็ก ๆ มองเห็น จนเวลาเที่ยงจึงพักกินเข้ากัน และกลับมาวาดรูปต่อจนเสร็จ

13.30 น. พี่นิวัฒน์และ อ. สุริยา จึงเข้ามาสรุปองค์ความรู้และบทเรียนที่เด็ก ๆ ได้รับ และให้เด็ก ๆ เขียนความตั้งใจลงกระดาษนำมาติดและอ่านให้เพื่อน ๆ ฟังหน้าห้อง จากนั้นก็มีการประกาศผลและให้รางวัลคนที่ชนะการวาดภาพ กลุ่มที่ชนะการทำแผนงาน และมอบสาระองค์ความรู้เหล่านี้ฝากเด็ก ๆ กลับไปโรงเรียนของตน จากนั้นจีงมอบใบประกาศนียบัตรให้เด็ก ๆ ที่ผ่านการอบรมโครงการกระทิงน้อยนักอนุรักษ์ในครั้งนี้ พี่นิวัฒน์กล่าวฝากให้เด็ก ๆ ทุกคนกลับบ้านแล้วไปช่วยดูแลทำความสะอาดรอบ ๆ บ้านของตนเอง ดูแลสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ บ้านไม่ให้ก่อมลพิษ และช่วยกันปลูกต้นไม้ให้มาก ๆ เพื่อให้โลกเราร่มเย็นขึ้น และกล่าวปิดการอบรมในครั้งนี้ในที่สุด

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

มารู้จัก ทสม. กันก่อน

ระเบียบกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าด้วยอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านพ.ศ. ๒๕๔๙

  • โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๗๙ กำหนดให้รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสงวน บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุล รวมทั้งมีส่วนร่วมในการส่งเสริม บำรุงรักษา และคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนควบคุมและกำจัดภาวะมลพิษที่มีผลต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน ประกอบกับเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชุมชนอันเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล จึงเห็นสมควรให้มีอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านขึ้น
  • อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๔๕ ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๔๘ และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๙ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม จึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
  • ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าด้วย อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน พ.ศ. ๒๕๔๙”
  • ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
  • ข้อ ๓ บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งอื่นใดที่กำหนดไว้แล้วในระเบียบนี้ หรือซึ่งขัด หรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน
  • ข้อ ๔ ในระเบียบนี้
    “อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน” หมายความว่า บุคคลที่มีความสนใจ มีการแสวงหาความรู้ และประสบการณ์ มีความเสียสละ และอุทิศตัวในการทำงานด้านการอนุรักษ์ สงวน คุ้มครอง และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนเองอย่างยั่งยืน โดยใช้ชื่อย่อว่า “ทสม.” และเรียกชื่อภาษาอังกฤษว่า “Natural Resources and Environmental Protection Volunteer” ใช้ชื่อย่อว่า “NEV”
    “เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน” หมายความว่า การเชื่อมประสานกันของ ทสม. เพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน สร้างความรู้ความเข้าใจ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความคิดเห็นเพื่อการอนุรักษ์ สงวน คุ้มครอง และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยใช้ หลักธรรมาภิบาลในการทำงาน เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต โดยใช้ชื่อย่อว่า “เครือข่าย ทสม.” และ เรียกชื่อภาษาอังกฤษว่า
    “Natural Resources and Environmental Protection Volunteer Network” ใช้ชื่อย่อว่า “NEV-Net”
    "กรรมการเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน” หมายความว่า ผู้แทนอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน ที่ได้รับคัดเลือกจากอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน เพื่อให้ปฏิบัติงานในฐานะกรรมการเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน ในระดับต่างๆ
  • ข้อ ๕ ให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจตีความวินิจฉัยปัญหา ออกกฎ ระเบียบข้อบังคับ และอื่นๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อดำเนินการ ให้เป็นไปตามระเบียบนี้
  • ข้อ ๖ เครื่องหมายของเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน เป็นวงกลมพื้นสีน้ำเงิน มีรูปใบไม้สีเขียวและลำต้นสีน้ำตาลอยู่กลางวงกลม ด้านบนล้อมรอบด้วยท้องฟ้าและเมฆสีขาว ด้านล่างเป็นรูปคนจับมือกัน มีตัวอักษรภาษาไทย เขียนว่า เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน และภาษาอังกฤษ เขียนว่า “Natural Resources and Environmental Protection Volunteer Network”
  • ข้อ ๗ ให้มีสำนักงานส่วนกลาง ตั้งอยู่ที่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เลขที่ ๔๙ ซอย ๓๐ถนนพระรามที่ ๖ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ๑๐๔๐๐ และให้จัดตั้งสำนักงานระดับจังหวัด อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน ตามความเหมาะสม


หมวดที่ ๑

วัตถุประสงค์ และกิจกรรม

--------------------------

  • ข้อ ๘ วัตถุประสงค์ของการมี ทสม. มีดังนี้(๑) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ ความเข้มแข็ง กระบวนการเรียนรู้และพึ่งตนเอง ของชุมชน ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในท้องถิ่นของตนเอง(๒) เพื่อเชื่อมโยงการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระหว่างระดับนโยบาย และระดับชุมชน
  • ข้อ ๙ กิจกรรมของ ทสม. มีดังนี้(๑) ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนให้ยั่งยืนตลอดไป(๒) เสริมสร้างจิตสำนึกให้แก่ประชาชนด้านการอนุรักษ์ สงวน คุ้มครอง และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนเอง(๓) ติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าระวังทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งกระบวนการ(๔) ส่งเสริมอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน
  • ข้อ ๑๐ วัตถุประสงค์ของการมีเครือข่าย ทสม.ดังนี้(๑) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูลข่าวสารด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเครือข่าย ทสม.ทุกระดับ(๒) เพื่อส่งเสริมให้อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน มีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ สงวน คุ้มครอง และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมในทุกระดับ(๓) เพื่อเป็นกลไกในการประสานงานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน อย่างต่อเนื่อง และเป็นระบบ(๔) เพื่อพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมู่บ้านให้เข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ(๕) เพื่อส่งเสริมสิทธิ หน้าที่และขวัญกำลังใจของอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน
  • ข้อ ๑๑ กิจกรรมของเครือข่าย ทสม. มีดังนี้(๑) เผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจเพื่อสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ สงวน คุ้มครอง และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชน(๒) สนับสนุนและส่งเสริมการอนุรักษ์ สงวน คุ้มครอง และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามสิทธิและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญให้ยั่งยืนตลอดไป(๓) ประสานงานกับหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน โดยใช้หลักการการมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม(๔) เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เครือข่าย ทสม.ทุกระดับ(๕) รักษาและเพิ่มสิทธิ หน้าที่ และจัดสวัสดิการให้แก่ ทสม.(๖) ดำเนินการอื่นตามมติของคณะกรรมการเครือข่าย ทสม.


หมวดที่ ๒

อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน

--------------------------------

  • ข้อ ๑๒ ผู้ที่จะสมัครเป็น ทสม. ควรมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้(๑) มีสัญชาติไทย(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๕ ปีบริบูรณ์(๓) เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วยความบริสุทธิ์ใจ(๔) มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ประจำในจังหวัดนั้น(๕) เป็นผู้สมัครใจที่จะอาสาดำเนินกิจกรรมทางด้านการอนุรักษ์ สงวน คุ้มครอง และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(๖) เป็นบุคคลที่มีความเสียสละและอุทิศตัวในการทำงานเพื่อส่วนรวม(๗) เป็นบุคคลที่เปิดโอกาสให้กับตัวเองและผู้อื่นในการแสวงหา เรียนรู้และเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์(๘) เป็นบุคคลที่ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมที่จะใช้เป็นแนวทาง ในการทำงานร่วมกัน
  • ข้อ ๑๓ วิธีการรับสมัคร ทสม. มีขั้นตอนดังต่อไปนี้(๑) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือคณะกรรมการเครือข่าย ทสม. หรือ หน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย ประสานและประชาสัมพันธ์แจ้งข่าว เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นสมัคร เป็นสมาชิก(๒) ผู้สนใจสมัครเป็น ทสม.และมีคุณสมบัติตามข้อ ๑๒ ให้ยื่นใบสมัครตามแบบ ที่กำหนดต่อหน่วยงานผู้มีอำนาจออกบัตรตามข้อ ๑๘
  • ข้อ ๑๔ ทสม. มีหน้าที่ ดังต่อไปนี้(๑) ช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนงาน โครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ สงวน คุ้มครอง และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น(๒) สร้างความตระหนักให้ภาคประชาชนรู้สภาพปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นและสามารถกำหนดแผนงานเพื่อแก้ไขปัญหาเองได้ รวมถึงการกระตุ้นให้ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้าน หรือชุมชนของตนได้ อย่างมีประสิทธิภาพ(๓) เป็นผู้ประสานงานระหว่างองค์กรประชาชน กับหน่วยงานของรัฐ และองค์กรอื่น(๔) ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ รับและแจ้งให้ประชาชนได้ทราบถึงนโยบาย ข่าวสาร กิจกรรม ตลอดจนผลงานที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(๕) ติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงคุณภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน
  • ข้อ ๑๕ ทสม. จะพ้นสภาพการเป็น ทสม. เมื่อ(๑) เสียชีวิต(๒) ลาออก(๓) คณะกรรมการเครือข่าย ทสม.ลงมติให้พ้นสภาพ
  • ข้อ ๑๖ ให้หน่วยงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทุกระดับดำเนินการ ดังนี้(๑) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีโอกาสเป็น ทสม. โดยสมัครใจ(๒) จัดปฐมนิเทศ ฝึกอบรม หรือประชุม สัมมนา ทสม. เพื่อเข้าใจบทบาทหน้าที่ ของตนและสามารถไปปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ(๓) เผยแพร่ ข่าวสารเกี่ยวกับ ทสม. และประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค(๔) สนับสนุนแผนงาน และงบประมาณของเครือข่าย ทสม.(๕) ในการดำเนินกิจกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ควรแจ้งเครือข่าย ทสม.ทราบ


หมวดที่ ๓

สิทธิประโยชน์ของอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน

--------------------------------

  • ข้อ ๑๗ สมาชิก ทสม.มีสิทธิดังต่อไปนี้(๑) มีสิทธิแต่งเครื่องแต่งกาย และประดับเครื่องหมาย ทสม.(๒) ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารผ่านสื่ออย่างต่อเนื่อง(๓) เข้าร่วมประชุม เพื่อรับรู้และแสดงความคิดเห็นโดยอิสระ(๔) มีสิทธิในการคัดเลือกคณะกรรมการเครือข่าย ทสม.(๕) มีสิทธิได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการเครือข่ายทสม.ในแต่ละระดับ เพื่อทำหน้าที่แทน ทสม.(๖) ทสม.ที่ปฏิบัติงานได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด อาจมีสิทธิได้รับใบประกาศ เกียรติคุณ โล่ เข็ม และอื่นๆ เพื่อยกย่องในฐานะเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคมด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม(๗) มีสิทธิในการตรวจสอบการทำงานของกรรมการเครือข่าย ทสม. เพื่อนำเสนอ ข้อมูลและเสนอแนะข้อคิดเห็นต่อการปรับปรุงการทำงาน หรือเสนอให้มีการลงชื่อเพื่อพิจารณาให้พ้นตำแหน่งจากกรรมการเครือข่าย ทสม.(๘) มีสิทธิในการมีส่วนร่วมเสนอแนะสิทธิประโยชน์อื่น เพื่อประกาศตามระเบียบกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(๙) สิทธิอื่นตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนด
  • ข้อ ๑๘ การออกบัตรประจำตัว ทสม. ตามรายละเอียดดังนี้(๑) ส่วนกลาง ให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจออกบัตร(๒) ส่วนภูมิภาค ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจออกบัตร
  • ข้อ ๑๙ บัตรประจำตัว ทสม.มีอายุห้าปี เมื่อบัตรประจำตัวชำรุด สูญหาย หมดอายุ หรือ มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ เช่น ชื่อ สกุล ให้ ทสม.ยื่นคำร้องตามแบบที่กำหนด เพื่อพิจารณาดำเนินการ ออกบัตรประจำตัวใหม่ให้ต่อไป

หมวดที่ ๔

คณะกรรมการอำนวยการ ทสม.

------------------------------

  • ข้อ ๒๐ ให้มีคณะกรรมการอำนวยการ ทสม. ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกรรมการ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี อธิบดีกรมป่าไม้ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่เกินหกคน ในจำนวนนี้จะต้องมีผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมร่วมอยู่ด้วยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเป็นกรรมการให้อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
  • ข้อ ๒๑ ให้คณะกรรมการอำนวยการ ทสม. มีอำนาจหน้าที่ดังนี้(๑) เสนอแนะนโยบาย และแนวทางปฏิบัติเพื่อพัฒนาการดำเนินงาน ทสม.ให้เกิดประสิทธิภาพ(๒) อำนวยการและประสานงานการดำเนินงาน ทสม.(๓) ให้คำปรึกษาและสนับสนุนการดำเนินงาน ทสม.(๔) ดำเนินการอื่นๆตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนด
  • ข้อ ๒๒ ให้จัดตั้งสำนักงานอำนวยการคณะกรรมการ ทสม. เป็นหน่วยงานภายในของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่ปฏิบัติเกี่ยวกับงานวิชาการและธุรการให้แก่คณะกรรมการอำนวยการ ทสม. คณะกรรมการบริหารเครือข่าย ทสม. และดำเนินการอื่นใดตามที่คณะกรรมการอำนวยการ ทสม. คณะกรรมการบริหารเครือข่าย ทสม.มอบหมายให้อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมแต่งตั้งข้าราชการในกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือจัดจ้างพนักงานราชการคนหนึ่งเป็นผู้อำนวยการ เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบในการสั่งการ และปฏิบัติการของสำนักอำนวยการ
  • ข้อ ๒๓ ให้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเสนอของบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามระเบียบนี้


หมวดที่ ๕

คณะกรรมการเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน

--------------------------

  • ข้อ ๒๔ ให้มีคณะกรรมการเครือข่าย ทสม. ดังนี้
    (๑) คณะกรรมการเครือข่าย ทสม.ระดับหมู่บ้าน ประกอบด้วย ผู้แทนที่ ทสม. คัดเลือกกันเองให้ได้ไม่น้อยกว่าเก้าคน(๒) คณะกรรมการเครือข่าย ทสม.ระดับตำบล ประกอบด้วย ผู้แทนคณะกรรมการระดับหมู่บ้านจากหมู่บ้านที่มี เครือข่าย ทสม.หมู่บ้านละไม่น้อยกว่าหนึ่งคน(๓) คณะกรรมการเครือข่าย ทสม.ระดับอำเภอ ประกอบด้วย ผู้แทนคณะกรรมการระดับตำบลจากตำบลที่มี เครือข่าย ทสม.ตำบลละไม่น้อยกว่าหนึ่งคน(๔) คณะกรรมการเครือข่าย ทสม. ระดับจังหวัด ประกอบด้วย ผู้แทนคณะกรรมการระดับอำเภอจากอำเภอที่มี เครือข่าย ทสม.อำเภอละไม่น้อยกว่าหนึ่งคน(๕) คณะกรรมการเครือข่าย ทสม. ระดับประเทศ ประกอบด้วย ผู้แทนคณะกรรมการระดับจังหวัด จังหวัดละหนึ่งคน และคัดเลือกกันเองให้ดำรงตำแหน่งเป็น คณะกรรมการบริหาร เครือข่าย ทสม. จำนวนไม่เกิน 17 คนคณะกรรมการเครือข่าย ทสม.แต่ละระดับ ประกอบด้วย ประธาน รองประธาน และกรรมการฝ่ายต่างๆ เช่น ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายทะเบียน ฝ่ายกิจกรรม ฝ่ายเหรัญญิก ฝ่ายปฏิคม ฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ หรือฝ่ายอื่นตามความเหมาะสม โดยให้คณะกรรมการแต่ระดับเป็นผู้คัดเลือกคณะกรรมการเครือข่าย ทสม.แต่ละระดับ สามารถแต่งตั้งที่ปรึกษา เพื่อขอคำปรึกษาได้ หรือตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือในการทำงานได้ตามความเหมาะสม
  • ข้อ ๒๕ หน้าที่ของคณะกรรมการเครือข่าย ทสม.คณะกรรมการเครือข่าย ทสม.ระดับประเทศ มีหน้าที่ปฏิบัติดังนี้(๑) เป็นผู้ประสานงานต่อหน่วยงานอื่น(๒) จัดทำแผนปฏิบัติงาน เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานของเครือข่าย ทสม.ระดับประเทศ(๓) ดำเนินการตามแผนหรือนโยบายที่กำหนดไว้(๔) จัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อตรวจสอบ(๕) สรุปผลงานและแถลงต่อที่ประชุมสามัญประจำปี อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง(๖) หน้าที่อื่นตามมติของคณะกรรมการเครือข่าย ทสมคณะกรรมการบริหารเครือข่าย ทสม. ปฏิบัติหน้าที่แทนเครือข่าย ทสม.ระดับประเทศ ตามวรรคหนึ่งคณะกรรมการเครือข่าย ทสม.ระดับอื่น มีหน้าที่ปฏิบัติดังนี้(๑) เป็นผู้ประสานงานต่อหน่วยงานอื่น(๒) จัดทำแผนปฏิบัติงาน เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานของเครือข่าย ทสม.(๓) ดำเนินการตามแผนหรือนโยบายที่กำหนดไว้(๔) จัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อตรวจสอบ(๕) รวบรวมข้อมูลการปฏิบัติงานของเครือข่าย ทสม.ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เพื่อนำมาแถลงต่อที่ประชุมสามัญประจำปี(๖) หน้าที่อื่นตามมติของคณะกรรมการเครือข่าย ทสม
  • ข้อ ๒๖ ให้กรรมการแต่ละระดับ อยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี เมื่อพ้นวาระให้ดำเนินการ จัดประชุม เพื่อคัดเลือกกรรมการใหม่
  • ข้อ ๒๗ นอกเหนือจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระข้อ ๒๖ กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ(๑) เสียชีวิต(๒) ย้ายที่อยู่(๓) ลาออก(๔) คณะกรรมการสองในสาม หรือสมาชิกไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดลงมติให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อกรรมการพ้นจากตำแหน่งตามข้อ ๒๗ ให้มีการคัดเลือก ทสม.ผู้อื่นเป็นกรรมการแทนภายในกำหนดหกสิบวัน นับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง เว้นแต่วาระของกรรมการ จะเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบวันให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการ ที่ตนแทน
  • ข้อ ๒๘ ให้คณะกรรมการบริหารเครือข่าย ทสม.มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมตามอัตราที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ และมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกับข้าราชการระดับแปดหรือเทียบเท่า


หมวดที่ ๖

การประชุม

----------------------------

  • ข้อ ๒๙ การประชุม ทสม. ทำได้ดังนี้(๑) ให้คณะกรรมการอำนวยการ ทสม. หรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย ร่วมกับคณะกรรมการเครือข่าย ทสม.ระดับประเทศ จัดประชุมสามัญประจำปี อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง โดยให้ประธานกรรมการแต่ละระดับ แจ้งตัวแทน ทสม.เข้าประชุมก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน(๒) กรรมการสามารถเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการทุกระดับ เพื่อเสนอให้มีการประชุมวิสามัญได้
  • ข้อ ๓๐ การประชุมคณะกรรมการเครือข่าย ทสม. ทำได้ดังนี้(๑) ประธานกรรมการแต่ละระดับ แจ้งกรรมการทุกคนเข้าร่วมประชุม อย่างน้อย ปีละสองครั้ง(๒) ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็น องค์ประชุม ในการประชุมคราวใดถ้ากรรมการมาประชุมน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ให้ประธานแจ้งให้มีการประชุม ครั้งที่สองภายในเวลาไม่เกินห้าวัน และให้ถือว่าเป็นองค์ประชุมสำหรับการประชุมคราวนั้น(๓) กรรมการแต่ละระดับ สามารถเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของกรรมการระดับนั้น เพื่อเสนอให้มีการประชุมคณะกรรมการได้
  • ข้อ ๓๑ วิธีการการประชุม การดำเนินการประชุม และกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวกับการประชุมของคณะกรรมการเครือข่าย ทสม.ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการเครือข่าย ทสม.กำหนด


หมวดที่ ๗

การเงิน

----------------------


  • ข้อ ๓๒ เงินรายได้ของเครือข่าย ทสม. แต่ละระดับ มาจาก(๑) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล หรือที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี(๒) เงินอุดหนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม(๓) เงินอุดหนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(๔) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่มีภาระผูกพัน(๕) กิจกรรมหารายได้(๖) เงินหรือทรัพย์สินจากการบริจาค(๗) ดอกผลที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของเครือข่าย(๘) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับตามกฎหมายหรือโดยนิติกรรมอื่น
  • ข้อ ๓๓ บัญชีรายรับ-รายจ่ายของเครือข่าย ทสม.ทุกระดับ ให้จัดทำตามวิธีปฏิบัติทั่วไป และสามารถตรวจสอบได้อย่างเปิดเผย ดังนี้(๑) การเงินของเครือข่าย ทสม.อยู่ในความรับผิดชอบร่วมกันของประธานกรรมการรองประธานกรรมการและเหรัญญิก โดยให้เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับสถาบันการเงินที่เป็นนิติบุคคล ในนาม ”เครือข่าย ทสม.” โดยมีบุคคลดังกล่าวลงนามร่วมกันไม่น้อยกว่าสองในสาม(๒) ประธานกรรมการเครือข่าย ทสม.มีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้ไม่เกินห้าหมื่นบาทถ้วนภายในหนึ่งวัน ถ้าเกินกว่าที่กำหนดให้คณะกรรมการเครือข่าย ทสม. พิจารณาให้ความเห็นชอบและอนุมัติโดยคณะกรรมการเครือข่าย ทสม.(๓) บัญชีการเงินและทรัพย์สินให้เหรัญญิกจัดทำและเก็บให้มีบัญชีการเงินและทรัพย์สินของคณะกรรมการเครือข่าย ทสม. พร้อมด้วยใบสำคัญและหลักฐานให้ถูกต้อง มีหลักฐานการรับเงิน การจ่ายเงิน ทุกรายการต้องมีใบสำคัญอันมีรายการและจำนวนที่ถูกต้องที่ได้รับอนุมัติจากประธานกรรมการ หรือผู้ได้รับมอบหมายจากประธานกรรมการ เก็บหลักฐานเพื่อการตรวจสอบไม่น้อยกว่าหกปี(๔)ให้ประธานคณะกรรมการเครือข่าย ทสม.และเหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดไว้เพื่อใช้จ่ายหมุนเวียนในกิจกรรมของคณะกรรมการเครือข่าย ทสม.เป็นเงินไม่เกินสองหมื่นบาทถ้วน และให้คณะกรรมการเครือข่าย ทสม.วางระเบียบการเงิน และทรัพย์สินของคณะกรรมการเครือข่าย ทสม. ให้เหมาะสมและรัดกุม(๕) การแสดงบัญชีให้แสดงในการประชุมสามัญประจำปี


หมวดที่ ๘

บทเฉพาะกาล

---------------------------

  • ข้อ ๓๔ ให้คณะกรรมการ ทสม.ทุกระดับที่มีอยู่ก่อนมีระเบียบนี้ รักษาการแทนจนกว่าจะมีคณะกรรมการใหม่ ทั้งนี้ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยห้าสิบวัน
  • ข้อ ๓๕ บัตรประจำตัว ทสม. ที่มีอยู่ให้ใช้ได้จนกว่าจะมีการออกบัตรประจำตัว ทสม.ใหม่ มาทดแทน

ประกาศ ณ วันที่.............................................................

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม